ประเทศไทยมีโคนมประมาณ 6 แสนตัว สามารถผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยประมาณ 3,000 ตันต่อวันหรือล้านกว่าตันต่อปี มูลค่าน้ำนมในประเทศไทยมีสูงถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ผลิตภัณฑ์น้ำนมมีอัตราการเติบโตเพียงแค่ 1- 3% ต่อปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โครงการวิจัยฯ จึงมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์น้ำนมแปรูปที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 15%
โครงการวิจัยฯ เลือก “จังหวัดสระบุรี” เป็นพื้นที่วิจัยต้นแบบ ไม่เพียงเพราะจุฬาฯ มีศูนย์การเรียนรู้และศูนย์วิจัยฯ ที่นั่น แต่จังหวัดสระบุรียังเป็นจังหวัดที่เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสามารถผลิตน้ำนมโคได้มากเป็นระดับต้นๆ ของประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 4,000 ราย หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ และสามารถผลิตน้ำนมโคได้ประมาณ 20% ของประเทศไทย
“เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดสระบุรีประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงมาก อากาศที่ร้อน ทำให้ผลผลิตน้ำนมที่ได้มีปริมาณลดลง นอกจากนี้ ฟาร์มโคนมในจังหวัดสระบุรีเป็นฟาร์มขนาดกลาง ซึ่งไม่สามารถขายน้ำนมดิบโดยตรงเข้าสู่โรงงานได้” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ เผยถึงประเด็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรที่ศูนย์วิจัยฯ ได้เข้าช่วยเหลือด้วยการบริหารจัดการฟาร์มโดยอาศัยข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ (Precision Dairy Farm Management) และการพัฒนาระบบลดความร้อนภายในฟาร์มเพื่อให้โคนมกินอาหารได้เพิ่มขึ้นและผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ร่วมกับการควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบให้เป็นไปตามมาตรฐาน thailand universities
คัดกรองคุณภาพน้ำนมเพื่อ “สระบุรีพรีเมียมมิลค์”
โครงการวิจัยฯ เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานน้ำนมดิบระดับพรีเมียม และพัฒนาต้นแบบเชิงธุรกิจ โดยเริ่มจากการสื่อสารและคัดกรองฟาร์มโคนมที่มีความสนใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ธนศักดิ์ บุญเสริม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เน้นการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สะท้อนปัญหาว่า “การรวบรวมน้ำนมดิบเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ผู้รวบรวมน้ำนมดิบยังไม่สามารถแยกน้ำนมดิบคุณภาพดีเยี่ยมออกจากน้ำนมดิบคุณภาพระดับปานกลางได้ น้ำนมสดคุณภาพพรีเมียมจึงถูกนำมาเทรวมกันที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมหรือสหกรณ์โคนมก่อนที่จะนำน้ำนมไปขายให้โรงงานแปรรูป
“เกษตรกรที่ผลิตนมสดคุณภาพพรีเมียมจึงเสียโอกาสที่จะได้ค่าตอบแทนสำหรับความพรีเมียมของผลผลิตที่ทำได้ บริษัทผู้แปรรูปน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมก็ไม่สามารถเข้าถึงน้ำนมดิบคุณภาพพรีเมียมเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอที่จะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็พลาดโอกาสที่จะได้บริโภคน้ำนมระดับพรีเมียม”
โครงการฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจากเกษตรกรที่สมาชิกของศูนย์รวบรวมน้ำนมและสหกรณ์โคนมจำนวน 12 แห่ง โดยพิจารณาจากผลการตรวจคุณภาพน้ำนมย้อนหลังเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งพบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 114 ราย (จาก 4,008 ราย) ที่สามารถผลิตน้ำนมดิบมีคุณภาพระดับพรีเมียมผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังขาดความสามารถในการผลิตน้ำนมให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ มาเข้าร่วมโครงการฯ คณะผู้วิจัยฯ ได้เข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ พัฒนากระบวนการคิดของเกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะก้าวไปสู่การป็นผู้ประกอบธุรกิจนมพรีเมียม
Comments