ทีมนิสิตเก่าจุฬาฯ ร่วมกับ CU Innovation Hub ผุดไอเดียสตาร์ทอัพ “Kollective” เครื่องมือและบริการทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์แบบครบวงจรโดยใช้ Big data วิเคราะห์ข้อมูลเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช่วัดผลได้เพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ
ในยุคที่ใครๆ ก็ค้นหาข้อมูลได้จากอินเทอร์เน็ต ข้อมูลของสินค้าและบริการที่สร้างขึ้นโดยแบรนด์อาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเลือกที่จะค้นหาข้อมูลการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้จริงมากกว่า จึงทำให้ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือ KOL (Key Opinion Leader) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น
หลายแบรนด์จึงหันมาทำการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ จนเกิดเป็นกระแสที่แวดวงการตลาดต้องหันมาสนใจ คุณเจ วราพล โล่วรรธนะมาศ นิสิตเก่าจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีม มองเห็นโอกาสจากเทรนด์อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเมื่อผนวกกับจุดแข็งของทีมในด้านเทคโนโลยีแล้ว จึงเกิดเป็น “Kollective” สตาร์ทอัพมูลค่า 100 ล้านบาท ภายใต้การสนับสนุนของ CU Innovation Hub research cluster
“เมื่อทุกแบรนด์เริ่มตื่นตัวและหันมาทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์กันมากขึ้น ก็เกิดคำถามว่าการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังเวิร์คอยู่หรือไม่ หลายแบรนด์ที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์แล้วไม่เวิร์คเป็นเพราะว่าไม่รู้จะทำอย่างไร ติดตามผลไม่ได้ว่าอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนให้ผลลัพธ์อย่างไร และไม่รู้ว่าทำแล้วเกิดยอดขายขึ้นมาจริงหรือเปล่า” คุณเจ วราพล ชี้โจทย์สำคัญในวงการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งกลายมาเป็นไอเดียธุรกิจ Kollective – Influencer Marketing optimizer หรือผู้ช่วยด้านเทคโนโลยีทางการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ โดยใช้เทคโนโลยี และ Big data มาทำการตลาดที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถติดตามผลลัพธ์อย่างเป็นระบบ
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) คืออะไร
ก่อนหน้านี้ การทำการตลาดมักใช้การสื่อสารแบบออฟไลน์ อย่างเช่น การโฆษณาทางโทรทัศน์ ป้ายโฆษณา หรือทำการตลาด ณ จุดขาย เป็นต้น ต่อมาในยุคที่ผู้คนเริ่มใช้สื่อออนไลน์ ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ช่วยเร่งให้ผู้คนเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเป็นเท่าตัว การตลาดก็ขยับเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ เช่น โฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หรือการทำ SEO (Search Engine Optimization) เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้ติดตามผลการตลาดได้ง่ายขึ้น และยังสามารถเลือกได้ว่าจะส่งโฆษณาไปให้ผู้บริโภคกลุ่มใด
อย่างไรก็ตาม การตลาดออฟไลน์หรือออนไลน์ที่กล่าวมานั้นยังเป็นเรื่องการสื่อสารทางตรงของแบรนด์ (direct communication)
“เมื่อคนเห็นโฆษณาจากแบรนด์บ่อยๆ ก็เริ่มเบื่อ และไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์สื่อสาร เหมือนเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่ได้เกิดการมีส่วนร่วม (engagement) ในโลกออนไลน์ ดังนั้น การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ จึงเกิดขึ้น”
Comments