ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า ‘ห้องน้ำ’ เปรียบเสมือนอาณาจักรเล็ก ๆ ที่หลายคนหยิบยกให้เป็นหนึ่งส่วนสำคัญของบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะต้องถูกสุขอนามัย หรือดีไซน์จะต้องถูกใจแค่ไหน ห้องน้ำก็ต้องสามารถรองรับการใช้งานที่พอเหมาะพอดี และมีพื้นที่รองรับช่วงเวลาผ่อนคลาย หรือแม้ในยามปลดทุกข์ เมื่อมีห้องน้ำ ก็ต้องมีองค์ประกอบคู่ใจอย่าง ‘โถสุขภัณฑ์’ หรือที่เราหลายคนรู้จักกันดีในชื่อ ‘โถส้วม’ หรือ ‘ชักโครก’ ที่แทบจะเป็นส่วนที่คนเรามักพิถีพิถันในการเลือกเป็นสิ่งแรก ๆ เมื่อจะสร้าง หรือรีโนเวทห้องน้ำ การติดตั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำ
เดิมทีคนไทยเราอาจคุ้นเคยเป็นอย่างดีในลักษณะโถนั่งยองที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน จนปัจจุบันก็ได้ขยับขยายมาใช้รูปแบบโถส้วม หรือ ชักโครกกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านสร้างใหม่ หรือบ้านรีโนเวท ก็มักเลือกใช้โถสุขภัณฑ์แบบโมเดิร์นให้มามีบทบาทต่อบ้านให้ทันยุคสมัย ด้วยเหตุผลที่ดีกว่าในหลายประการ ทั้งสะดวกกว่า ถูกสุขอนามัย สะอาดปลอดภัย และเติมแต่งห้องน้ำให้ดูน่าใช้งาน เพราะบทบาทของโถสุขภัณฑ์สำคัญขนาดนี้ เราจึงจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับสาระดี ๆ ของโถสุขภัณฑ์ให้ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม
โถสุขภัณฑ์สมัยใหม่ มีกี่ประเภท ?
โถสุขภัณฑ์ หรือ ชักโครก ในปัจจุบันมีการจัดประเภทหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่
1. โถสุขภัณฑ์ ตามการติดตั้ง ได้แก่ แบบตั้งพื้น และ แบบแขวนผนัง (ลอยตัว)
1.1 แบบตั้งพื้น
โถสุขภัณฑ์แบบตั้งพื้น หรือ วางพื้น เป็นโถชักโครกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักพบได้ตามบ้าน หรือคอนโดสมัยนี้ มีลักษณะเป็นแบบติดตั้งลงไปบนพื้นห้องน้ำโดยตรง ให้ความแข็งแรง คงทน เน้นการใช้งานที่ง่าย และสะดวกสบาย รับน้ำหนักได้ดี ที่สำคัญ ไม่ค่อยมีปัญหาจุกจิกตามมา ระบบการฟลัชน้ำก็มีให้เลือกหลากหลายด้วยเช่นกัน
ข้อดี : เป็นที่นิยมใช้ หาง่ายตามท้องตลาด รูปแบบให้เลือกจึงหลากหลายตามไปด้วย ราคาดี มีตั้งแต่ราคาสูงขึ้นอยู่กับดีไซน์และระบบฟลัชชำระล้าง ในส่วนของการติดตั้งก็ง่ายไม่ยากเย็น การซ่อมก็สามารถซ่อมแยกส่วนได้ ไม่ค่อยเป็นปัญหา
ข้อเสีย : การทำความสะอาดส่วนฐานของสุขภัณฑ์ที่อยู่ติดผนังกำแพงจะยุ่งยากสักหน่อย เนื่องจากอยู่ลึกกว่ามือหรือแขนของเราเอื้อมเข้าไปถึง
1.2 แบบแขวนผนัง (ลอยตัว)
อีกหนึ่งประเภทโถสุขภัณฑ์แบบใหม่ ที่มีลักษณะเป็นโถชิ้นเดียวที่มีการติดตั้งแบบฝังเข้ากับผนัง และลอยตัวเหนือพื้นขึ้นมา ดูสะอาดตาและเรียบหรู เพิ่มสไตล์ความเป็นโมเดิร์นให้กับห้องน้ำได้ดี การติดตั้งจะมีความแตกต่างกับแบบตั้งพื้นอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการติดตั้งแบบลอยตัว ต้องอาศัยการเตรียมพื้นที่ส่วนผนังให้มีความแข็งแรงระดับหนึ่ง เพื่อรองรับน้ำหนักผู้ใช้งานให้ได้ดีที่สุด
ข้อดี : รูปแบบใหม่ สไตล์เรียบหรู ดูน้อยแต่มาก ทำความสะอาดง่าย ไม่เป็นปัญหาคราบฝังแน่นตามพื้นรอบโถ
ข้อเสีย : การติดตั้งยุ่งยากกว่า มีระบบฟลัชน้ำแค่แบบเดียว ( แบบ Wash Down ) หาซื้อยากกว่าแบบตั้งพื้น ตัวเลือกก็จะน้อยลง และมีราคาที่สูงขึ้นมาอีกระดับ รวมถึงระบบท่อระบายน้ำทิ้งต่าง ๆ ด้วย
2. โถสุขภัณฑ์ ตามชนิดของโถ ได้แก่ แบบชิ้นเดียว และ แบบแยกชิ้น
2.1 แบบชิ้นเดียว
โถสุขภัณฑ์ชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นโถชิ้นเดียว ตัวชักโครกจะติดกันกับถังพักน้ำ ไม่มีร่องหรือรอยต่อ จึงมีดีไซน์ที่เรียบสวย และมีความเป็นโมเดิร์นเข้ากับการตกแต่งสมัยใหม่ ผสมผสานกับดีไซน์อื่น ๆ ของห้องน้ำได้ดี เป็นโถสุขภัณฑ์อีกแบบที่ใช้งานก็สะดวก ทำความสะอาดก็ง่าย
ข้อดี : รูปแบบสวยงาม ใช้งานง่าย และดี ไม่มีรอยต่อ น้ำไม่รั่วซึม ระบบการฟลัชน้ำเงียบกว่า
ข้อเสีย : ติดตั้งง่าย ราคาจะสูงกว่าแบบแยกชิ้น หากชำรุดเสียหาย ต้องซื้อเปลี่ยนใหม่ยกเซ็ต
2.2 แบบแยกชิ้น
โถสุขภัณฑ์แบบแยกชิ้น หรือ แบบสองชิ้น จะมีลักษณะเป็นโถชักโครกที่แยกกันกับถังพักน้ำ เป็นชนิดที่มักพบเห็นโดยทั่วไป และส่วนมากจะเป็นโถชักโครกแบบตั้งพื้นเสียส่วนใหญ่ หาซื้อง่าย แต่อาจมีขั้นตอนการติดตั้งที่ซับซ้อนกว่าแบบชิ้นเดียว
ข้อดี : หากชำรุดเสียหาย สามารถซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนเฉพาะจุดได้ หาซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนแยกได้ หาซื้อไม่ยาก ตัวเลือกเยอะ
ข้อเสีย : เนื่องจากเป็นชิ้นแยก และมีรอยต่อ อาจมีปัญหาน้ำรั่วซึมระหว่างรอยต่อของตัวโถกับแท้งค์น้ำในภายหลังได้ การติดตั้งจะซับซ้อนกว่าแบบชิ้นเดียว และอาจมีสิ่งสกปรกเกาะตามรอยต่อระหว่างตัวโถกับแท้งค์น้ำ ค่อนข้างทำความสะอาดได้ยาก หากไม่รักษาความสะอาดให้ดี
Comments