เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ภาวะสูงวัย พฤติกรรมหนึ่งที่เปลี่ยนไปซึ่งมักพบได้บ่อยคือ การรับประทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งหากรับประทานอาหารน้อยลงเรื่อยๆ อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงไม่อยากรับประทานเพียงชั่วคราวหรือเป็นอาการต่อเนื่องที่นำไปสู่ภาวะเบื่ออาหาร จนมีผลให้น้ำหนักตัวลดลงเร็วกว่าปกติ ขาดสารอาหาร หรือมีอาการเจ็บป่วยตามมา
รู้ได้อย่างไรว่าแค่เบื่ออาหาร หรือเป็นภาวะเบื่ออาหาร
การเบื่ออาหารอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในบางครั้ง สังเกตได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ไม่ค่อยอยากทานอาหาร หรือทานได้น้อยลง แต่ลักษณะเช่นนี้มักพบได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ภาวะการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการทานอาหารได้น้อยลง หรือเบื่ออาหารประเภทเดิมๆ แต่หมายถึงการไม่อยากรับประทานไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสุขภาพทางกายและภาวะทางจิตใจร่วมด้วย
ลักษณะการเบื่ออาหารในผู้สูงวัย
ลักษณะการเบื่ออาหาร รวมถึงการไม่อยากรับประทาน ปฏิเสธการทานอาหารในปริมาณที่เคยกิน หรืออาหารที่เคยชอบ ซึ่งแม้จะรู้สึกหิวแต่ก็ไม่อยากทานอะไร ผลที่ตามมาคือ น้ำหนักตัวลดลง ซึ่งการเบื่ออาหารที่ผิดปกติมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกคลื่นไส้ ท้องผูก ท้องอืด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่อหน่ายกับสิ่งต่างๆ รอบตัว หรือขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต
โดยทั่วไป หากสาเหตุการเบื่ออาหารเกิดจากความเครียด ก็มักจะหายไปเองในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้น เช่น น้ำหนักตัวลดลงเร็ว ไม่ทานอาหารหลายวัน ร่างกายมีอาการผิดปกติเมื่อพยายามทานอาหารหรือดื่มน้ำ เช่น ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ควรรีบไปพบเพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ในผู้สูงอายุ อาการเบื่ออาหารที่ต่อเนื่อง จะส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกายและนำไปสู่ภาวะโภชนาการต่ำ เนื่องจากไม่ว่าจะทานอะไรก็ไม่อร่อย หรือมีความรู้สึกว่าไม่อยากทานอะไรทั้งสิ้น อาการขาดสารอาหารไม่ได้แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ร่างกายจะค่อยๆ อ่อนเพลีย ภูมิต้านทานลดลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่าย แผลหายช้า และป่วยง่าย จึงเป็นอาการที่มีผลต่อสุขภาพโดยรวมในระยะยาว
Comments