ผู้สูงวัยที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหารมักพบว่า มีน้ำหนักตัวลดลงจากเดิมประมาณ 5% หรือมากกว่าในช่วง 6 เดือน ระดับอัลบูมินในเลือดต่ำกว่า 3.5 กรัมต่อเดซิลิตร ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ต่ำกว่า 18.5 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร มีความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหารอย่างต่อเนื่อง น้ำหนักตัวลดลง ร่างกายซูบผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เวียนศีรษะและอ่อนเพลียได้ง่ายกว่าปกติ ใจสั่น ผมร่วง ชาหรือเสียวบริเวณข้อต่อ ซึ่งหากพบว่าผู้สูงวัยมีลักษณะและพฤติกรรมเช่นนี้ ควรพิจารณาปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและโภชนาการให้สอดคล้องกับการดูแล เพื่อการแก้ไขหรือป้องกันภาวะการขาดสารอาหาร
ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อขาดสารอาหาร
ภาวะการขาดสารอาหารในผู้สูงวัยนั้นถือเป็นภัยเงียบทางสุขภาพ เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อสภาพร่างกาย เช่น มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย การทรงตัวไม่ค่อยดี เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลง มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือหกล้มได้ง่าย สมองทำงานได้ไม่เต็มที่ ผิวพรรณแลดูไม่สดใส แผลหายช้ากว่าปกติ และนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ส่งผลให้การเจ็บป่วยของผู้สูงวัยรุนแรงขึ้น มีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง คุณภาพชีวิตลดลง และมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น
นอกจากนี้ การขาดสารอาหารยังส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้ผู้สูงวัยที่ประสบปัญหานี้รู้สึกหดหู่ มีอาการซึมเศร้า และอาจส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ เช่น มีอาการหงุดหงิดง่าย หรือมีความวิตกกังวลมากเกินไป ดังนั้น ญาติหรือผู้ดูแลควรให้ความใส่ใจอย่างใกล้ชิด โดยเริ่มต้นจากโภชนาการสำหรับผู้สูงวัยให้ได้รับสารอาหาร 5 หมู่อย่างครบถ้วนและเพียงพอในแต่ละมื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของการดูแลสุขภาพ รวมถึงหมั่นสังเกตอาการความเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินภาวะโภชนาการในผู้สูงวัยเป็นระยะ
เนื่องจากภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงวัยจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ดูแลจึงควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อการดูแลและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยได้อย่างถูกวิธี สามารถช่วยเหลือและให้การรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที
Comments