การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายขั้นตอน การวางแผนการรักษา หรือ Surgical Planning จึงเป็นเรื่องสำคัญที่แพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจมากขึ้น ได้รับการรักษาตรงตามความต้องการ ส่งผลให้ได้ผลการรักษาดีขึ้น
มะเร็งเต้านม รักษาได้ หลายวิธี
การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายขั้นตอน ทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาพุ่งเป้าและการฉายแสง ซึ่งการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ตัวรับฮอร์โมน อายุและชนิดของการผ่าตัด นอกจากนี้การเลือกการรักษายังต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี ผลข้างเคียงของการรักษา โรคประจำตัวของผู้ป่วย ความสวยงาม และความต้องการของผู้ป่วยร่วมด้วย
การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก การผ่าตัดแบบสงวนเต้านมเป็นวิธีมาตรฐาน ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด แต่ในบางกรณีที่มีมะเร็งกระจายหลายตำแหน่ง มีการกระจายของหินปูนที่น่าสงสัย หรือมีข้อห้ามในการฉายแสงหลังผ่าตัด จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด หากผู้ป่วยต้องการเสริมสร้างเต้านมใหม่ สามารถใช้ถุงเต้านมเทียม หรือใช้เนื้อเยื่อของตนเอง
การฉายแสง
การฉายแสง เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่ ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ก้อนขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง
รักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัด
ส่วนการรักษาเสริมอื่นๆ หลังผ่าตัด พิจารณาจากระยะของโรค และตัวรับฮอร์โมนเป็นหลัก ในผู้ป่วยที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก จะให้ยาต้านฮอร์โมนต่ออีก 5-10ปี หากมีตัวรับเฮอร์ทูเป็นบวก จะให้ยาพุ่งเป้า (ยาต้านเฮอร์ทู) ร่วมด้วย นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดมะเร็งกลับเป็นซ้ำสูง เช่น ก้อนขนาดใหญ่ มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง ตัวรับฮอร์โมนเป็นลบ ตัวรับเฮอร์ทูเป็นบวก มีการแบ่งตัว (Ki-67) สูง อาจต้องได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
“การให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ร่วมตัดสินใจวางแผนการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น ได้รับการรักษาตรงตามความต้องการ ทราบผลข้างเคียง และสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ได้ผลการรักษาดีขึ้น”
Comentarios